นั่งคุยกับคนเลี้ยงปลาแดง


ท่ามกลางกระแสปลามังกรแดงที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ผมเชื่อว่าหลายๆคนแม้แต่ผมเองก็ยัง
อยากได้มาครอบครองลองเลี้ยงดูบ้าง วันนี้ผมมีโอกาสได้มานั่งคุยกับเฮียย้ง
 เจ้าของร้าน ย้งอโรวาน่า ที่ผันตัวเองจากคนที่ชอบเลี้ยงปลา มาเป็นคนขายปลาในวันนี้



บางท่านอาจจะรู้จักและเรียกแปะย้งบ้าง หรือบางท่านที่รุ่นเดอะกว่านั้นอาจจะรู้จักแปะย้งในชื่อล็อคอินที่ชื่อว่า “คนเลี้ยงปลาแดง” ผูที่เลี้ยงปลามังกรมาตั้งแต่ยุคแรกๆ เฮียย้งเล่าให้ฟังว่าตัวเองเริ่มเลี้ยงปลามาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียน เฮียย้งบอกว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ปี สมัยนั้นการซื้อปลาแดงสักตัวไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางคนซื้อปลาแดงแต่ได้เรดบีมาแทนก็มี เพราะสมัยก่อนยังไม่มีใบเซอร์การันตีปลาแบบสมัยนี้ “สมัยนั้นผมเองก็ยังไม่มีเงินมากพอจะซื้อ เรียกว่าไม่มีปัญญาซื้อเลยดีกว่า สมัยนั้นผมซื้อทองอินโดตัวละ 2500 บาท จำความได้ว่าเกล็ดเปิดอย่างมากนะก็แค่ 3แถว แล้วทองมาเลย์ตัวละ 12500 บาท ผมจำได้ชัดเลย แล้วอย่าไปพูดถึงเกล็ดละเอียดนะครับ ไม่มีหรอกครับอย่างมากเห็นก็ 4แถว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเวลาเทียบกันคือความเงาที่จะต่างกันแบบสิ้นเชิง” เฮียย้งเล่า

เฮียย้งเล่าต่ออีกว่า สมัยนั้นเลี้ยงปลากันความรู้ก็ไม่ค่อยจะมี เปลี่ยนน้ำกันทีแทบหมดทั้งตู้ น้ำยาลดคลอรีนก็ใส่กันมั่วซั่ว สุดท้ายนะครับปลาตายยกตู้ เฮียย้งก็เล่าไปขำไป แล้วก็เริ่มมาเลี้ยงทองมาเลย์ แต่สุดท้ายก็ขยับมาเลี้ยงปลาแดงแล้วรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ แต่กว่าจะเรียนรู้ และรู้จักปลาแดงจริงๆนี่เฮียบอกว่าเจ็บตัวไปเยอะเหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนเราเลี้ยงไม่เป็น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องแทนนิ่ง สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกัน กลางคืนก็ปิดไฟเลี้ยง เลี้ยงยังไงก็ไม่แดง เลี้ยงจนไซส์ 20กว่านิ้วก็ไม่มีสีเลย เอาปลาไปเทิร์นกับเค้า เค้าก็ตีราคาเราต่ำมากเลย เค้าก็บอกว่าปลาเค้านั้นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็โดนตัวใหม่ก็แพงกว่าเดิมอีก เรียกได้ว่าเจ็บตัวจนชิน แต่เวลาไปบ้านพ่อค้าปลานี่ โอ้โหทำไมปลาเค้าแดงก่ำกันทุกตัว ไอ้เราก็แปลกใจว่าทำไมปลาเค้าแดงจัง เค้าก็ไม่ได้เปิดไฟเหมือนเรา มาถึงบางอ้อรู้ทีหลังว่า ปลาเค้าเลี้ยงโดนแดด หลังจากนั้นเราก็เริ่มสังเกตวิธีการเลี้ยง ว่าทำแบบนี้นะ ลักษณะแบบนี้นะมันจะแดงนะ




เรากลับมากันที่ปัจจุบันกันต่อครับ ปลามังกรแดงถิ่นกำเนิดจริงๆอยู่ที่อินโดนีเซีย แต่เดี๋ยวนี้มีหลายประเทศนะที่เอาพ่อแม่ปลามาทำพันธุ์ อย่างที่มาเลเซียเค้าจะเรียกแดงมาเลย์ สิงคโปร์ก็มี แม้แต่ในไทยเราเองยังทำกันได้เลย แต่ยังไม่มากมายเท่าที่ควร ผมก็สงสัยต่อว่าแล้วมันจะต่างกันยังไงบ้างเราจะดูได้ยังไง เฮียเล่าต่ออีกว่า เรื่องสีสันของปลาสมัยนี้เอาจริงๆมันพัฒนาได้ใกล้เคียงกันมากๆ แต่ถ้าจะเอาให้เห็นชัดจริงๆคือปลาของอินโดฯ จะเห็นได้ชัดเลยว่าครีบเครื่องจะใหญ่ ทรงของปลาจะแตกต่างกับจากที่อื่นแบบชัดเจน





ถ้าอยากจะเริ่มเลี้ยงปลาแดงสักตัว มีเทคนิคการเลือกยังไงบ้าง?
จริงๆเราเดินดูได้ตามร้านปลาทั่วๆไปเลยนะ จริงๆแล้วอยากให้เดินดูเยอะๆ ดูทั่วๆ เอาส่วนตัวผมแล้วกัน “ถ้าผมจะซื้อปลาสักตัว ผมจะหาข้อมูลหาจนทั่ว เดินดูให้ทั่ว สิ่งแรกที่ผมให้ความสำคัญที่สุดคือ ความประทับใจ เห็นแล้วต้องประทับใจก่อน” เราเดินดูปลาเป็นสิบๆตู้ ผมเชื่อว่ามันต้องมีสักตัวที่ประทับใจแล้วเล็งเลย เข้าไปดูใกล้ๆแล้วลองดูตำหนิว่าอะไรที่เรารับได้ และรับไม่ได้ เพราะบางคนไม่ชอบเกล็ดซ้อน ไม่ชอบตาตก บางคนไม่ชอบปากยื่น แต่ละคนชอบไม่ชอบต่างกัน

แต่ถ้าบางคนจะซื้อปลาเล็กเข้าบ้าน ผมขอแนะนำว่าพยายามหาให้มีตำหนิน้อยที่สุดถ้าไปมีตำหนิจากการเลี้ยงของเราเองไม่เป็นไร แล้วตัวผมเองที่เน้นพิเศษเลยสำหรับปลาแดงคือปาก พยายามมองดูตัวที่ปากขบกันสนิท ปากล่างยื่นเกินแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้เลย เพราะมีโอกาสที่โตมาปากจะหนา แต่เอาจริงๆตามสายพันธุ์ของปลาแดงกับอาการปากยื่นนี่แทบจะเป็นของคู่กันเลย
อันดับสองคือตา เบ้าตาด้านบนกับด้านล่างควรจะเสมอกัน ไม่ออกจากเบ้ามากกว่ากันไม่เอียง เพราะอาจจะมีโอกาสตาตก
อันดับที่สาม เกล็ดของปลา ต้องเรียงตัวกันเป็นระเบียบไม่มีตำหนิ ไม่มีเกล็ดซ้อน แล้วก็ไล่ดูเนื้อเกล็ด ส่วนตัวของผมเอง ผมเป็นคนรุ่นเก่าผมจะชอบดูเนื้อเกล็ดที่หยาบ เนื้อเกล็ดหนาๆ ผมเชื่อว่าเวลาที่สีปลามา สีจะแน่นกว่าเนื้อเกล็ดบางๆ แต่สมัยนี้เค้าก็ชอบเกล็ดแบบมันๆเงาๆ ที่เค้าเรียกกันว่าเมทัลลิค ผมว่าเกล็ดแบบนี้ก็ดีนะ เวลาแทนนิ่งไฟสีมาเร็วมากแล้วเหมือนจะมาเต็มแผ่นดีด้วย เวลาเลือกปลาก็ลองมองดูเหลือบสีของเกล็ด ในปลาเล็กเราจะเห็นได้จากการมองย้อนแสงขึ้นไปจะเห็นเป็นม่วงๆบ้าง ออกน้ำเงินบ้าง พยายามหาเหลือบที่กินเข้าไปลึกมากที่สุด โอกาสที่คุณจะได้ฟูลบล็อคก็มี แล้วยิ่งถ้าคุณมาเลี้ยงพื้นขาว แล้วแทนนิ่งไฟ โอกาสที่สีมันจะกินเข้าไปลึกก็ยิ่งมากตามไปด้วย หลักการเลือกปลาแดงมันก็มีคร่าวๆประมาณนี้นะ





แล้วอย่างนี้เราจะซื้อปลาเล็กมาลองเลี้ยงดูก่อน หรือจะซื้อปลาที่เฉลยแล้ว?
พวกนี้มันขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของแต่ละคนนะ ถ้าจะเอาตัวเดียวจบ เอาจริงๆมันไม่จบหรอก พูดกันตรงๆ (ผมเองก็ไม่จบ) แต่ถ้าจะซื้อปลาเล็ก ถ้าจะไปซื้อเองเฮียย้งแนะนำว่าลองหาเพื่อนที่พอจะดูปลาเป็น เดี๋ยวนี้เรารู้จักเพื่อนใหม่ได้ง่ายขึ้น ลองนัดเจอพวกพี่ๆเพื่อนๆที่เค้ามีความรู้ ลองคุยกับเค้าดู แล้วชวนกันมาดูปลากันไหม ให้เค้ามาชี้เป้า หรือจะมาร้านผมก็ได้ (เฮียย้งพูดไปหัวเราะไปแอบขายของ) แต่เลี้ยงปลาเล็กมันสนุกได้ดูพัฒนาการของมัน แต่ถ้าคิดว่าเราต้องการเอาไปโชว์ได้เลยก็เลือกซื้อปลาใหญ่ แต่ราคามันก็สูงตามไปด้วย

แล้วพอเราได้ปลามาแล้วเราก็เลี้ยงคล้ายๆกับปลาอื่น ปลาเลี้ยงในตู้สำคัญที่สุดคือน้ำต้องดี เพราะมันหนีออกจากตู้ไม่ได้ อย่าละเลยในการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สม่ำเสมอ อาทิตย์นึงประมาณ 25% น้ำต้องผ่านกรองคลอรีนด้วยนะ นี่พูดถึงปลามังกรตัวเดียวนะ ถ้าใครมีปลาเมทเยอะก็ควรจะเปลี่ยนน้ำบ่อยขึ้นตามไปด้วย 


แล้วเลี้ยงปลาแดงตู้สีอะไรดี?
สีพื้นตู้ปลาแดง ถ้าสีดำสีปลาจะดูค่อนข้างเข้ม ตู้น้ำเงินก็ดีนะ เอาจริงๆก็แล้วแต่ชอบได้นะ แต่ตอนนี้เทรนด์มันเปลี่ยนไปเป็นตู้ขาวกันแล้วนะ เราจะเห็นทางอินโดเค้าเลี้ยงปลาแดงในตู้ขาว ส่วนตัวผมคิดว่าตู้ขาวมันทำให้เบสสีมันหายไป พอเจอการแทนนิ่งไฟสีมันจะได้ลามเข้าไปลึกมาก อันนี้ตามความเข้าใจของผมนะต้องใช้วิจารณญาณตัดสินใจเองด้วยนะ แต่สุดท้ายเอาจริงๆมันก็ไม่มีอะไรถูก อะไรผิดหรอก


ถึงตอนที่สำคัญที่สุดของเหล่าบรรดาผู้เลี้ยงปลาแดงแล้วครับ ปลาแดงเลี้ยงยังไงให้แดง?
ปลาแดงผมบอกเลยว่าเป็นปลาที่ต้องการไฟทั้งชีวิต แต่ถ้าในปลาเล็กก็จะเปิดหรือปิดก็ได้เพราะเม็ดสีเค้ายังไม่มา แต่ถ้าจะเริ่มแทนนิ่งทำสีได้ควรจะเริ่มประมาน 12 นิ้ว แก้มปลาจะเริ่มมีสีขึ้น ขอบเกล็ดเริ่มมีสี ลองสังเกตที่เกล็ดดูจะมีเม็ดสีขาวๆผุดเป็นเม็ดเล็กๆนี่คือลักษณะของปลาที่พร้อมทำสีแล้ว
เราอาจจะเปิดไฟธรรมดาดูปลาเวลากลางวันเพื่อความสวยงาม แล้วเวลาเรานอนเราก็เปิดหลอดแทนนิ่งปลาเวลากลางคืนได้ แต่บางคนอยากให้สีมาเร็วๆผมก็เห็นเค้าเปิดทั้งวันทั้งคืนก็มี แต่ปลาจริงๆแล้วมันมีช่วงที่สีดี สีดรอปลงบ้างนะ บางทีมันเริ่มโตช่วงเป็นช่วงกำลังยืดตัวประมาณ 16-18นิ้ว บางตัวสี
ก็ดรอปลงไปได้นะ เพราะเนื้อเกล็ดมันก็ยืดขยายตามตัว มันขึ้นอยู่กับตัวปลาด้วย

แล้วจะใช้หลอดแบบไหนดี?
เวลาผมแทนนิ่งปลาผมว่าหลอดมันดีทุกยี่ห้อนะ แม้แต่หลอดไฟบ้านผมก็ว่าใช้แทนนิ่งได้นะ เราต้องดูให้เหมาะสมกับตัวปลา ลองหมั่นดูอาการปลาเป็นหลักปลาบางตัวอาจจะชอบหลอดแบบนี้ บางตัวชอบหลอดคนละแบบ ถ้าปลาว่ายสวย ไม่ตื่นตกใจไฟ กินดีเหมือนเดิม คุณก็ใช้หลอดนั้นแทนนิ่งไปเลยคุมอุณหภูมิให้ได้ ลองดูการพัฒนาของสี ถ้าดีขึ้นผิดหูผิดตาขึ้นมาก็แสดงว่าตัวนี้เหมาะแล้ว ไฟแทนนิ่งบางโคมอาจจะชุดนึงหลายพันบาทเลย ไปแทนนิ่งปลาตัวนี้อาจจะสีดี ไปแทนนิ่งปลาอีกตัวสีอาจจะไม่มาเลยก็มี เพราะลูกค้าผมบางคนก็บ่นให้ฟังเหมือนกัน

แล้วถ้าเลี้ยงปลาโดนแดดช่วยได้ไหม จริงๆมันก็คล้ายๆกับการแทนนิ่งนะ แต่ถ้าถึงขนาดกับย้ายตู้ปลาไปเลี้ยงนอกบ้าน ความสุขของการนั่งดูปลาในบ้านมันก็หายไปเยอะนะ นอกจากบางคนมีพื้นที่สะดวกที่จะเลี้ยงนอกบ้านได้ก็โอเคนะ เอาจริงๆแดดผมว่าดีนะ ค่อนข้างดีด้วย แต่กลางคืนคุณก็ต้องเปิดไฟทิ้งเอาไว้เหมือนกันเพื่อไม่ให้ตื่นเช้ามาแล้วปลาสีซีดลง ต้องรอจนกว่าสีมันจะนิ่งจริงๆก็ต้องรอปลามันได้ไซส์ใหญ่พอสมควรแล้ว สีถึงจะนิ่ง ก็ค่อยๆเปิดไฟให้น้อยลงก็ได้

ตะขาบช่วยให้แดงจริงไหม?
เอาจริงๆผมว่าตะขาบไม่ได้ช่วยอะไรมากหรอกนะกับสีสัน ผมว่ากุ้งเนี่ยดีนะ ผมชอบใช้กุ้งฝอยที่มันมีไข่กุ้งติดอยู่ท้อง ผมเชื่อว่ามันมีสารบางอย่างนะที่ช่วยให้สีปลาดีขึ้น (ในวงการปลาปอมปาดัวร์การให้ปลากินไข่กุ้งช่วยเรื่องสีสันได้จริง เดี๋ยวผมจะไปหาข้อมูลมาให้นะครับว่ามีสารอะไรช่วยได้จริงไหม)
เคล็ดลับ เทคนิคจริงๆไม่มีอะไรมาก ส่วนตัวผมนะปลาแดง คุมน้ำอย่าให้น้ำเกิน 29 องศา สังเกตช่วงอากาศเย็นๆลง ช่วงอุณหภูมิ 28-29 ปลาจะสีดีขึ้น หรือเราใช้พัดลมช่วยได้นะเป่าผิวน้ำให้เย็นลงได้



แล้วอะไรทำให้จากคนเลี้ยงปลาแดง มาเป็นย้ง อโรวาน่าในทุกวันนี
เอาจริงๆผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดร้านเลยนะ มีอยู่ช่วงนึงผมก็หยุดเลี้ยงปลามังกรไป แล้วไปลองเลี้ยงปลา
กระเบนอยู่ช่วงนึง เลยมีความคิดว่าถ้าเราเข้ามาในสวนจตุจักรแล้วจะขายดีไหม แต่เพื่อนๆที่รู้จักกันก็บอกว่า เฮียมีความรู้เรื่องปลามังกรแดงเยอะทำไมไม่ขายปลามังกรควบคู่กันไปด้วยเลย ในร้านก็เลยกลายเป็นปลาแดงเสียส่วนใหญ่ แต่ปลาทองมาเลย์ก็มีให้เลือกนะ

ฝากอะไรถึงคนที่กำลังอยากจะเริ่มเลี้ยงปลามังกร
ฝากนักเลี้ยงรุ่นใหม่ไว้เลยว่า อย่าใจร้อน หาข้อมูลให้เยอะๆ เดินดูให้เยอะๆ เอาให้เจอที่ชอบจริงๆ เงินอยู่ในกระเป๋าเรา ราคาหน้าตู้ต่อรองได้เลย ผมว่าทุกร้านอยากขายของอยู่แล้ว หาข้อมูลเยอะๆแล้วเราจะได้ปลาดีๆ คุณภาพเหมาะสมกับราคา หรือหารุ่นพี่ๆที่เค้าพอจะมีความรู้ในโซเชียลก็ได้เค้ามาจตุจักรกันเรื่อยๆอยู่แล้ว จะได้มีภูมิคุ้มกัน “อย่ามาซื้อปลาเองโดยที่ไม่มีความรู้อะไรเลย” และฝากข้อเตือนใจไว้อีกเรื่องหนึ่ง จะซื้อปลาสักตัวนึงไม่ใช่เงินน้อยๆ อยากให้มายืนดูหน้าตู้ อยากให้เห็นปลาตัวเป็นๆกับตาตัวเอง ถ้าหากตกลงปลงใจซื้อกันแล้วในเพจ ลองขอนัดเจ้าของปลาแล้วไปดูหน้าตู้ได้เลย คุณจะเห็นทุกอย่าง ลักษณะท่าทางการว่าย ตำหนิทุกอย่าง เงินยังไงก็อยู่ในกระเป๋าคุณ ถ้าหากไม่ชอบขึ้นมา แค่ขอบคุณครับคำเดียว เค้าก็ว่าอะไรคุณไม่ได้ อยากให้ทุกคนเห็นปลาตัวเป็นๆก่อนที่จะจ่ายเงิน 







ก็เกือบจบลงไปแล้วนะครับกับการคุยกับเฮียย้งอโรวาน่า เฮียย้ง ที่ร้านเฮียย้งมีมากกว่าปลามังกรนะครับ อาหารปลา กบฟรีซ ดุกฟรีซ กุ้งแช่แข็ง ปลาเมท หลอดไฟ วิตามินBoostที่ร้านเฮียย้งก็มีนะครับ ไม่ซื้อของร้านเฮีย ปลาป่วยมีปัญหาอยากได้ความรู้อะไรเฮียบอกว่าเข้ามานั่งคุยกับเฮียย้งได้เลย มาเป็นเพื่อนเลี้ยงปลาด้วยกัน เฮียย้งยินดีตอบทุกคำถามจริงๆ บางทีเวลาผมมีข้อสงสัยหรือปลาป่วย
ผมเองก็ชอบมาถามเฮีย หรือบางครั้งเฮียยังทักมาให้คำปรึกษาวิธีแก้ปัญหาเองก่อนเลยด้วยซ้ำ ใครมีข้อสงสัยอะไรลองติดต่อเฮียย้งได้เลยครับที่เพจ ย้ง อโรวาน่า ตามลิงค์ด้านล่างเลยครับ

https://www.facebook.com/yongarowana



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุยกับคนคัดปลาแดง

Why We Love Fish?